แนวร่นอาคารจาก ทางสาธารณะ ที่ว่างด้านหน้า ด้านหลัง และระยะห่างเขตที่ดินข้างเคียง

ปัจจุบันการควบคุมอาคารในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดจะมีกฎหมายบังคับที่สอดคล้องกันกล่าวคือ มีข้อบัญญัติและกฎกระทรวงหรือเทศบัญญัติของท้องถิ่น บังคับใช้เช่น ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครเรื่องความคุมอาคาร พ.ศ. 2544 กฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) และกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) เป็นต้น โดยจะมีการบังคับเกี่ยวกับแนวร่นอาคารจาก ทางสาธารณะ ที่ว่างด้านหน้า ด้านหลังอาคาร และระยะห่างเขตที่ดินข้างเคียง ซึ่งสรุปโดยรวมได้ดังนี้
  
1.   แนวร่นอาคารจาก ถนนหรือทางสาธารณะ
      กรณีที่ 1 อาคารพักอาศัย (สูงไม่เกิน 3 ชั้น สูงไม่เกิน10.00 เมตร พื้นที่รวมไม่เกิน 1,000 ตารางเมตร หรืออาคารอยู่อาศัยรวม (สูงไม่เกิน 2 ชั้นสูงไม่เกิน 8.00 ม. และมิใช่อาคารขนาดใหญ่)
      1.1  ถ้าถนนสาธารณะกว้างน้อยกว่า 6.00 เมตร ร่นแนวอาคารห่างจากกึ่งกลาง ถนนสาธารณะ อย่างน้อย 3.00 เมตร
      1.2  ถ้าถนนสาธารณะกว้างมากกว่าง 6.00 เมตร รินแนวอาคารห่างจากถนนสาธารณะ ดังนี้
             1.   สูงไม่เกิน 3 ชั้น, พื้นที่ไม่เกิน 300 ตารางร่นจากเขตถนนอย่างน้อย 0.50 เมตร
             2.   สูงไม่เกิน 3 ชั้น, พื้นที่เกิน 300 ตารางเมตรร่นจากเขตถนนอย่างน้อย 1.00 เมตร
      กรณีที่ 2 อาคารพาณิชย์ อาคารอยู่อาศัยรวม ห้องแถวตึกแถวและอาคารอื่นๆ ที่มิใช่ตามกรณีที่ 1
      2.1  ถนนสาธารณะกว้างน้อยกว่า 10.00 เมตร รินแนวอาคารจากกึ่งกลาง ถนนสาธารณะ6.00 เมตร
      2.2  ถนนสาธารณะกว้างมากกว่า 10.00 เมตร ร่นแนวอาคารจากเขตถนน อย่างน้อย 10% ของความกว้างถนน
      2.3  ถนนสาธารณะกว้างมากกว่า 20.00 เมตร ร่นแนวอาคารจากเขตถนนอย่างน้อย 2.00 เมตร
            (ทั้งนี้ถ้าอยู่ในถนนที่มีการบังคับระยะร่นไม่น้อยกว่า 6.00 เมตร ของกรมทางหลวงหรือ 15.00 เมตร ของกทม. ก็ต้องปฏิบัติตามด้วยครับ )
         
2.   ที่เว้นว่างด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้างอาคาร
      กรณีที่ 1 ห้องแถว ตึกแถว
      1.1  สูงไม่เกิน 3 ชั้น ไม่อยู่ริมทางต้องมีพื้นว่างด้านหน้าอาคารอย่างน้อย 6.00 เมตร
      1.2  สูงเกิน 3 ชั้น ไม่อยู่อยู่ริมทางสาธารณะ ต้องมีที่ว่างด้านหน้าอาคารอย่างน้อย 12.00 ม. (ตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไป)
      1.3  ต้องมีที่ว่างเป็นทางเดินหลังอาคารอย่างน้อย 3.00 ม.
      1.4  ต้องมีที่ว่างห่างเขตที่ดินด้านข้างอย่างน้อย 2.00 ม.
      1.5  ติดต่อกันได้ไม่เกิน 10 ห้อง และยาวรวมกันไม่เกิน 40 เมตร
      1.6  ทุก 10 ห้องต้องมีที่เว้นว่างไม่น้อยกว่า 4.00 เมตร

      กรณีที่ 2  อาคารพาณิชย์ อาคารสำนักงาน อาคารอยู่อาศัยรวมและอาคารอื่นๆ (ยกเว้นอาคารอยู่อาศัย สูงไม่เกิน 3 ชั้น ที่มิใช่อยู่อาศัยรวม อาคารที่มีความสูงไม่เกิน 2 ชั้น และสูงไม่เกิน 8.00 เมตร.)
      2.1  สูงไม่เกิน 3 ชั้น ไม่อยู่ริมทางสาธารณะ ต้องมีที่ว่างหน้าอาคาร อย่างน้อย 6.00 เมตร
      2.2  สูงเกิน  3  ชั้น ไม่อยู่ริมทางสาธารณะ ต้องมีที่ว่างหน้าอาคารอย่างน้อย 12.00 เมตร
      2.3  ที่ว่างหน้าอาคารตามข้างต้น ต้องมีความยาวไม่น้อยกว่า 1/6 เท่าของเส้นรอบรูปตัวอาคารนั้น และต้องไปต่อเชื่อมกับถนนภายในกว้างไม่น้อยกว่า 6.00 ม. เพื่อออกสู่ถนนสาธารณะได้ (ถ้าเป็นถนนภายในที่ผ่านช่องลอด ในอาคารอื่นต้องสูงไม่ต่ำกว่า 5.00 เมตรด้วย)
      2.4  ต้องมีที่ว่างเป็นทางเดินหลังอาคารกว้างไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร
  
    
หมายเหตุ 
1.   อาคารที่ไม่อยู่ริมทางสาธารณะหมายถึงอาคารที่อยู่ห่างจากทางสาธารณะเกินกว่า 20.00 เมตร
2.   มีหน้ากว้างของอาคารหันสู่ทางสาธารณะยาวน้อยกว่า 1/8 เท่าของความยาวเส้นรอบรูปอาคารนั้น
3.   ระยะห่างเขตที่ดินข้างเคียงของช่องแสง ช่องระบายอากาศ, ประตู, หน้าต่างและริมกันตกระเบียบของอาคารต่างๆ
       3.1 ตั้งแต่ชั้น1 และชั้น 2 ต้องห่างเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร
       3.2 ตั้งแต่ชั้น 3 ขึ้นไป ต้องห่างเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 3.00 เมตร
4.   ที่ว่างโดยรอบอาคารต่างๆ (ตามที่บัญญัติกทม. พ.ศ. 2544 และกฎกระทรวงฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535)
       4.1 อาคารอยู่อาศัย สูงไม่เกิน 3 ชั้น พื้นที่รวมไม่เกิน 300 ตารางเมตร ต้องมีพื้นว่าง โดยสอบไม่น้อยกว่า 0.50 เมตร (ยกเว้นได้รับการยินยอมจากเจ้าของที่ดินข้างเคียง)
       4.2 อาคารต่างๆ ที่มีความสูงไม่เกิน 15.00 เมตร ต้องมีที่ว่างโดยรอบอาคารไม่น้อยกว่า 1.00 เมตร
       4.3 อาคารต่างๆ ที่มีความสูงเกิน 15.00 เมตร แต่ไม่ถึง 23.00 เมตรต้องมีพื้นที่ว่าง โดยรอบอาคารไม่น้อยกว่า 2.00 เมตร
       4.4 อาคารต่างๆ ที่มีความสูง ตั้งแต่ 23.00 เมตรขึ้นไป ต้องมีพื้นว่างโดยรอบไม่น้อยกว่า 6.00 เมตร


ใน ปัจจุบันได้มีกฎกระทรวง ฉบับที่ 61 (พ.ศ. 2550) ออกมาใช้บังคับกับอาคารที่ก่อสร้างในที่ดินผืนเดียวกัน (แปลงเดียวกัน) ให้มีระยะห่างระหว่างอาคารน้อยลงจากเดิมได้ ซึ่งแต่เดิมจะถูกบังคับด้วย กฎกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543) มีการใช้บังคับมาแล้วตามข้อที่ 48 บังคับว่าอาคารอีกหลังหนึ่งจะต้องอยู่ห่างจากอาคารเดิมที่สูงไม่เกิน 9.00 ม. ต้องห่างกัน 4.00 ม. แต่ถ้าอาคารสูงเกิน 9.00 ม. ต้องห่างกัน 6.00 ม. ทำให้เป็นปัญหากับที่ดินแปลงเล็กๆ เพราะระยะห่างจะไม่พอ หากต้องการสร้างอาคารอีกหลัง และร้องทุกข์ต่อทางการเป็นจำนวนมาก โดยขอให้มีการแก้ไขเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อย มีที่ดินน้อย สามารถก่อสร้างอาคารอีกหลังหนึ่งในที่ดินแปลงเดิมได้ (ครอบครัวขยายเติบโตขึ้น) ทั้งนี้ได้มีการพิจารณา โดยคณะกรรมการควบคุมอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมืองได้นำเสนอจนออกเป็นกฎกระทรวงแก้ไขระยะห่างดังกล่าว ข้างต้นเป็นการผ่อนปรนแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้

รายละเอียดตามกฎหมายฉบับใหม่จะแตกต่างจากฉบับอื่นๆ ส่วนใหญ่จะมีการบังคับมากขึ้น แต่ฉบับนี้มีบังคับน้อยลง ซึ่งเป็นดังนี้

ข้อ 1 ผนังอาคารด้านที่ใกล้กันมีระเบียงหรือมีหน้าต่าง ประตูทั้ง 2 อาคารต้องมีระยะห่าง ดังนี้
   1. สูงไม่เกิน 9 เมตร ทั้ง 2 หลัง ต้องมีระยะห่างไม่น้อยกว่า 4.00 เมตร (ริมหน้าหน้า หรือริมระเบียบ)
   2. สูงไม่เกิน 9 เมตร หนึ่งหลังและอีกหลังสูงเกิน 9 เมตร แต่ไม่ถึง 23 เมตร จะต้องมีระยะห่างไม่น้อยกว่า 5.00 เมตร
   3. สูงเกิน 9 เมตร แต่ไม่ถึง 23 เมตร ทั้ง 2 หลัง ต้องมีระยะห่าง 6 เมตร

ข้อ 2 อาคารที่มีผนังทึบต้องอยู่ห่างผนังของอีกอาคารหนึ่งที่มีระเบียง ประตู หน้าต่าง ดังนี้
   1. สูงไม่เกิน 15 เมตร ต้องอยู่ห่างผนัง หรือระเบียง อีกหลังหนึ่งที่สูงไม่เกิน 9 เมตร เป็นระยะ 2 เมตร
   2. สูงไม่เกิน 15 เมตร ต้องอยู่ห่าง อีกหลังที่สูงเกิน 9 เมตร (แต่ไม่ถึง 23 เมตร) เป็นระยะ 3 เมตร
   3. อาคารมีความสูงเกิน 15 เมตร แต่ไม่ถึง 23 เมตร ห่างอาคารอีกหลังที่สูงไม่เกิน 9 เมตร เป็นระยะ 2.50 เมตร
   4. อาคารมีความสูงเกิน 15 เมตร แต่ไม่ถึง  23 เมตร ห่างอาคารอีกหลังที่สูงเกิน 9 เมตร แต่ไม่ถึง 23 เมตร เป็นระยะ 3.50 เมตร

ข้อ 3 ผนังของอาคารที่เป็นผนังทึบและอาคารสูงเกิน 15 เมตร แต่ไม่ถึง 23 เมตร ทั้ง 2 หลัง ต้องมีระยะห่างไม่น้อยกว่า 1 เมตร เท่านั้น